ใกล้วันแม่ 12 สิงหาคมเข้ามาแล้ว ก็เลยถือโอกาสนำเอาประวัติของมาลัย มาฝากท่านผู้อ่านกันค่ะ หากคิดจะมอบมาลัยให้กับคุณแม่ น่าจะทราบประวัติกันไว้บ้างก็ดีนะคะ

บรรพบุรุษของไทยเรามีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และวัสดุอื่น ๆ เป็นที่ขึ้นชื่อมานานแต่โบราณกาลแล้ว แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการเริ่มต้นมาแต่ในสมัยใดแน่ คงเนื่องมาแต่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้นั่นเอง จึงไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบค้น ต่อมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ครั้งสมัยพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระสนมเอก คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในงานด้านฝีมือในการประดิษฐ์ดอกไม้สดเป็นเลิศ ในสมัยนั้นตามหลักฐาน ที่อ้างถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งดงามวิจิตรกว่าโคมของพระสนมอื่นทั้งปวง โดยการนำเอาดอกไม้ต่าง ๆมาประดิษฐ์ตกแต่ง และยังได้เอาผลไม้มาทำการแกะสลักตกแต่งประกอบไปด้วย แต่ก็มิได้มีการอ้างถึงว่า ในการตกแต่งครั้งนั้นมีการร้อยมาลัยมาประดับตกแต่งด้วยหรือไม่ และในหลักฐานที่อ้างถึงตอนหนึ่งว่า ในเดือนเมษายนมีพระราชพิธีสนามใหญ่บรรดาเจ้าเมือง เศรษฐี คหบดีเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ พระสนมกำนัลต่าง ๆ ก็ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ใส่เมี่ยงหมากถวายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้มาเฝ้าและในครั้งนั้นนางนพมาศก็ร้อยดอกไม้สีเหลืองเป็นรูปพานทองสองชั้นรองขัน มีระย้าระบายงดงามในขันใส่เมี่ยงหมาก แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายคลุมขันอีกทีหนึ่งเป็นที่เจริญตาและถูกกาละเทศะอีก สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงบัญญัติว่าถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นการสนามใหญ่ มีการอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล เป็นต้น ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมากดังนี้ และให้เรียกว่า พานขันหมาก

ในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาล งานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามาก และก็เป็นที่นิยมประดิษฐ์ในงานต่าง ๆ แทบทุกงาน โดยเฉพาะงานพิธีต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชนิยมการทำดอกไม้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีงานราชพิธีใด ๆ เจ้านายฝ่ายในต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้น ๆ เสมอ พระมเหสีเทวีทุกตำหนักใฝ่พระทัยในการจัดแต่งดอกไม้ไปตาม ๆ กัน แต่ละพระองค์ก็มีชื่อเสียงในทางต่าง ๆ กัน

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวงครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดอบรมข้าหลวงและครูโรงเรียนราชินีให้รู้จักทำดอกไม้แห้งลียนแบบดอกไม้สดด้วย ทรงส่งเสริมฟื้นฟูการทำดอกไม้เป็นอันมาก พระองค์เองก็ทรงใช้เวลาว่างประดิษฐ์ดัดแปลงการทำดอกไม้แบบเก่าให้แปลกพิสดารออกไปอีก มีพระนามเลื่องลือในการร้อยพวงมาลัย ซึ่งแต่เดิมมาไทยนิยมร้อยมาลัยด้วย ดอกมะลิ และเป็นมาลัยสีขาวกลมธรรมดาเท่านั้น และพลิกแพลงต่างกันไปบ้างก็เป็นมาลัยเกลียว คือ มีลวดลายเป็นเกลียวขึ้นไป สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงคิดร้อยมาลัยด้วยดอกไม้ต่าง ๆ และใช้ใบไม้แทรกทำให้มีลวดลายและสีต่าง ๆ กันอย่างงดงาม และพลิกแพลงทำรูปต่าง ๆ กันด้วย และในงานพระศพสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงและสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระองค์นี้ พระศพประดิษฐานอยู่ ณ วังสะพานถ่าน ( คือ ที่ตลาดบำเพ็ญบุญเวลานี้ ) สมเด็จพระพันปีหลวง มีพระราชเสาวณีย์ดำรัสให้ท้าววรคณานันท์ ( ม.ร.ว.ปั้ม มาลากุล ) จัดทำมาลัยไปประดับพระศพ เช่น ตกแต่งตามฉัตรรัดพระโกษและแขวนตามประตู หน้าต่าง ตามประเพณีงานใหญ่ ๆ ของเจ้านายตลอดงานนี้ มาลัยที่ตกแต่งเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป เปลี่ยนแบบเรื่อย ๆ มา จึงนับได้ว่าตั้งแต่บัดนั้น การร้อยมาลัยได้มีการวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นต้นมาหลายแบบ และในระหว่างนั้นท่านเจ้าคุณประยูรวงศ์ก็ได้จัดทำมาลัยครุยขึ้นมา ท้าววรคณานันท์ เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าของมาลัยงามหลายแบบ และความรู้ความชำนาญในเรื่องร้อยมาลัยนี้ก็ได้สืบต่อมาจนถึง ม.ล.ป้อง มาลากุล ผู้ซึ่งมีความสามารถ ในเรื่อง การทำดอกไม้สด และดอกไม้แห้งเป็นอย่างยิ่ง